10 July 2024
คุ้มมั้ยที่จะนำแบตเตอรี่มาใช้งานเพื่อช่วยประหยัดค่าไฟ
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการนำแบตเตอรี่มาใช้งานร่วมกับโซลาร์เซลล์
แต่มีหนึ่งคำถามยอดฮิตที่ว่า ”คุ้มมั้ยที่จะนำแบตเตอรี่มาใช้งาน เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า”คำถามนี้หมายถึงการนำแบตเตอรี่มาจ่ายกระแสไฟฟ้าแทนไฟฟ้าที่มาจากการไฟฟ้ามิได้หมายถึงสถานที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และต้องใช้ แบตเตอรี่ในการเก็บและจ่ายพลังงานไฟฟ้าแทนไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ซึ่งกรณี แบบนี้คือความจำเป็นต้องใช้
ดังนั้นจึงไม่ต้องถามถึงความคุ้มค่าหรือความประหยัด แต่ในกรณีนี้ เราจะหมายถึงการนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้แทนการใช้ไฟฟ้าจาก การไฟฟ้า แล้วมาดูกันว่ามันประหยัดกว่าค่าไฟที่ต้องจ่ายให้การไฟฟ้าหรือไม่ โดยมีสิ่งที่ต้องพิจารณาแยกเป็นหัวข้อดังนี้…
1. แบตเตอรี่ที่เราใช้มีความจุเท่าไหร่และอายุการใช้งานกี่ปี?
โดยปรกติความจุของแบตเตอรี่ เราสามารถคำนวนง่ายๆจาก แรงดันรวม (V) และความสามารถในการจ่ายกระแสรวม(Ah) ขอยกตัวอย่างแบตเตอรี่ LifePO4 ขนาด 48V 100AH จะมีความจุอยู่ที่ 48x100=4800 WH หรือ 4.8 kWh ซึ่งก็คือแบตเตอรี่ลูกนี้สามารถจ่ายประจุไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้า ให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้มากที่สุดที่ 4.8 หน่วยต่อวัน (ในกรณีนี้ไม่ต้องคำนึง ถึงเปอร์เซ็นต์ DOD ซึ่งโดยทั่วไปต้องเผื่ออย่างน้อย 20% สำหรับแบต ชนิดนี้) และโดยทั่วไปแบตเตอรี่ชนิดนี้จะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ
5-7 ปี หรือรอบการชาร์จและดิสชาร์จประมาณ 3,000-4,000 รอบ (ขึ้นอยู่กับการใช้งานแบต) ดังนั้นตลอดการใช้งาน แบตเตอรี่ลูกนี้จะจ่าย พลังงานไฟฟ้าได้ทั้งสิ้นตลอดอายุการใช้งานคือ 4.8 หน่วย x 365 วัน x 5 ปี หรือ 8,760 หน่วย
2. ราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เราจ่ายให้การไฟฟ้า
โดยปรกติถ้าเป็นบ้านพักอาศัยทั่วไปใช้อัตราก้าวหน้าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 4.2 บาท (แต่ก็มีผู้ใช้ไฟฟ้าบางประเภทที่อาจจะต้องจ่ายถึง 5 บาท ต่อหน่วย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างของคนส่วนใหญ่คือ 4.2 บาทต่อหน่วย)
3. ราคาแบตเตอรี่ LifePO4 ขนาด 48V 100Ah อยู่ที่ประมาณ 35,000 - 45,000 บาท ซึ่งแล้วแต่คุณภาพและมาตราฐานของแบตเตอรีที่นำมาใช้งาน (ไม่รวมถึงแบตเตอรี่มือ2 หรือแบตเตอรี่ที่ประกอบขึ้นใช้เอง)
เมื่อเราทราบถึงสิ่งที่เราต้องใช้ในการคำนวนหาความคุ้มทุนแล้ว หลังจากนั้น ให้พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นคือ แบตเตอรี่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 8,760 หน่วย ตลอดอายุการใช้งาน หมายถึงสามารถทดแทนค่าไฟฟ้า ที่เราต้องจ่ายให้การไฟฟ้าหน่วยละ 4.2 บาทตลอดอายุการใช้งาน คิดเป็นเงิน 8,760x4.2 = 36,792 บาท และเมื่อพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่เราต้องซื้อ แบตเตอรี่มาใช้งานในครั้งแรกในราคา 35,000-45,000 บาทแล้ว จะเห็นได้ว่าค่าแบตเตอรี่มีราคาใกล้เคียงหรือบางทีอาจจะแพงกว่า เงินที่เรา ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในจำนวนหน่วยไฟทั้งหมดที่แบตเตอรี่ลูกนี้ผลิตได้ตลอดอายุการใช้งานให้กับการไฟฟ้าโดยตรงเสียอีก
ดังนั้นนี่คือเหตุผลที่ว่า ณ วันนี้การซื้อแบตเตอรี่มาใช้งานในตอนกลางคืน แทนการใช้ไฟจากการไฟฟ้าทำไมถึงยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเท่าใดนัก…นั่นก็เพราะว่าราคาของแบตเตอรี่ซึ่งเมื่อลองคำนวนเป็นหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอดอายุการใช้งานยังคงมีราคาโดยรวมสูงกว่าราคาต่อหน่วยที่การไฟฟ้า ขายให้เราอยู่ดี(หรืออย่างดีก็เท่ากันหรือใกล้เคียงกับราคาต่อหน่วยของการ ไฟฟ้าถ้าเราสามารถหาซื้อแบตเตอรี่ได้ในราคาถูกๆ แต่อาจต้องแลกกับ คุณภาพ และอายุการใช้งานที่ลดลงด้วยเช่นกัน)
คำถามถัดมาคือแล้วเมื่อไหร่เราถึงจะสามารถนำแบตเตอรี่มาชดเชยการใช้ ไฟฟ้าได้จริง…คำตอบก็คือ…คงอีกไม่นานจากนี้ต่อไปถ้าราคาของแบตเตอรี่ ลดลงไปมากกว่านี้อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือครึ่งหนึ่งบวกกับค่าไฟฟ้าปรับ ราคาสูงขึ้นในอนาคต…เมื่อนั้นก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้ว่าบ้านทุกหลังอาจจะ มีการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์และเก็บพลังงานที่เหลือลงแบตเตอรี่ และใช้ไฟจากแบตเตอรี่ลูกนั้นจ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางส่วนในบ้านหรือทั้งหลัง โดยค่าไฟฟ้าที่จ่ายต่อหน่วยจากแบตเตอรี่จะถูกกว่าค่าไฟฟ้าที่ซื้อจาก การไฟฟ้าอย่างมีนัยยะ ซึ่งเมื่อนั้นถึงจะเรียกว่าคุ้มค่ากับการนำแบตเตอรี่ มาใช้งานจริงๆนั่นเอง
หมายเหตุ การประเมินอายุของแบตเตอรี่ว่าจะใช้งานได้นานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ว่าเราใช้ งานแบตเตอรี่ลูกนั้นหนักแค่ไหน ตัวเลขที่แสดงให้เห็นเป็นตัวเลข โดยเฉลี่ยที่การใช้งานประมาณ 80% DOD อุณหภูมิเฉลี่ยมากเกินกว่า 25 องศา ดังนั้นการประเมินอายุของแบตเตอรี่อาจจะสั้นกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการใช้งานดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ตามถ้าต้องการ ยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้นานขึ้นอาจจะต้องเลือกใช้แบตเตอรี่ให้ใหญ่ขึ้นและลดเปอร์เซ็นต์ DOD ลง ซึ่งก็ต้องแลกกับราคาของแบตเตอรี่ที่แพงขึ้น
ที่มา : Chalermpon Satayavutipong